ระดับปริญญาโท (Master Degree)

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 865
  • Item
    การสร้างเครือข่ายจักสานเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
    (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2022) สุรีนาถ ครองสุข
    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างเครือข่ายจักสานเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างเครือข่ายของกลุ่มจักสาน และเพื่อศึกษากลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ให้กับกลุ่มเครือข่ายจักสาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามี 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรมจักสานในพื้นที่จังหวัดพะเยา จำนวน 10 กลุ่ม จังหวัดแพร่ 5 กลุ่ม ใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบก้อนหิมะหรือแบบลูกโซ่ หน่วยงานภาครัฐ 3 หน่วยงาน และผู้ประกอบการในภาคเอกชน 3 แห่ง ใช้การเลือกตัวอย่างตามสะดวก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์แก่นสาระ ผลการวิจัยพบว่า การวิเคราะห์ SWOT ของกลุ่มจักสานในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ พบว่า จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถนำจุดแข็งของกลุ่มหนึ่งไปช่วยลดจุดอ่อนของกลุ่มอื่นได้ จึงก่อให้เกิดแนวทางการสร้างเครือข่ายของกลุ่มจักสานไม้ไผ่จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายการจัดหาวัตถุดิบ เครือข่ายการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเครือข่ายการตลาด แนวทางการสร้างเครือข่ายของกลุ่มจักสานในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ มีรูปแบบการสร้างเครือข่าย ได้แก่ 1) เครือข่ายความคิด จะเน้นการทำงานด้านความคิด การแบ่งปันความรู้หรือเทคนิคต่าง ๆ มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน 2) เครือข่ายกิจกรรมจะเน้นการร่วมมือกันในการทำกิจกรรม ช่วยเหลือกันในการทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ 3) เครือข่ายสนับสนุนทุน การรวมกลุ่มช่วยทำให้เกิดการระดมทุนของสมาชิกในกลุ่มเพื่อใช้ในการดำเนินงาน และทำให้เกิดอำนาจต่อรอง และได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐได้ง่าย ขั้นตอนการสร้างเครือข่ายมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสร้างเครือข่ายโดยตระหนักถึงปัญหา 2) การสร้างประโยชน์ร่วมกัน 3) การแสวงหาแกนนำของเครือข่าย 4) การสร้างแนวร่วมสมาชิกของเครือข่าย การวิเคราะห์กลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เหมาะสมสำหรับทางการสร้างเครือข่ายของกลุ่มจักสานในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ พบว่า กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มเครือข่ายจักสาน ได้แก่ กลยุทธ์การผสมผสาน: การบูรณาการด้านกลยุทธ์ต้นทุนต่ำและกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าโดยเน้นความแปลกใหม่ของตัวผลิตภัณฑ์ ให้มีความแตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ และตอบสนองความต้องการ และการใช้งานของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยอยู่ภายใต้การผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ตลอดจนการได้รับการช่วยเหลือ และสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน อย่างต่อเนื่อง
  • Item
    ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2
    (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2024) พรประภา จันทร์เม้า
    การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา กับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 2) เพื่อศึกษาการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 และ 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 จำนวน 316 คน โดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ โดยมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ 0.98 และค่าดัชนีความสอดคล้อง 0.67-1.00 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า 1) ภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก 2) การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู มีความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางบวกระดับสูงมาก (r = 0.876**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
  • Item
    ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษากับประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย
    (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) ธนกฤต จักรสุวรรณ์
    การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาทักษะดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษา และ 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทักษะดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา กับประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารและครู ในโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย สหวิทยาเขตริมกก จำนวน 320 คน ได้มาจากการกำหนดกลุ่มตัวอย่างจากตารางของเครจซี่และมอร์แกน จากนั้นใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ โดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องของเครื่องมือ (IOC) ระหว่าง 0.33-1.00 และมีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาที่ระดับ 0.99 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ การหาค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย การหาส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation) ผลการวิจัย พบว่า 1) ทักษะดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยทักษะที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ทักษะการสืบค้น รองลงมา คือ ทักษะการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ และทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตามลำดับ ส่วนทักษะที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ทักษะการสร้างนวัตกรรม 2) ประสิทธิผลของสถานศึกษา โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยประสิทธิผลของสถานศึกษาที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านคุณภาพครู รองลงมา คือ ด้านคุณภาพสถานศึกษา และด้านคุณภาพการบริหาร ตามลำดับ ส่วนประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านคุณภาพผู้เรียน 3) ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา กับประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
  • Item
    ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
    (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2024) หทัยชนก วงศ์วิเศษ
    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 2) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำแนกตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนของกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผู้วิจัยทำการสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการเปิดตารางเครซี่และมอร์แกน ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 248 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test independent) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance: ANOVA) จากผลการวิจัยพบว่า 1) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ทั้ง 5 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านความน่าเคารพ รองลงมา ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบ รองลงมา ได้แก่ ด้านความไว้วางใจ รองลงมา ได้แก่ ด้านความซื่อสัตย์ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านความยุติธรรม ตามลำดับ 2) แสดงผลการเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำแนกตามวุฒิการศึกษา ด้านความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ ความรับผิดชอบ และความน่าเคารพ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งภาพรวมและรายด้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนการเปรียบเทียบจำแนกตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งภาพรวมและรายด้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
  • Item
    ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
    (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2024) พลอยไพลิน จินตนา
    การวิจัยแบบภาคตัดขวางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 212 คน เก็บข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2565 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในระดับสูง (mean = 4.52, S.D. = 0.32) ปัจจัยที่สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคได้ จำนวน 3 ปัจจัย ได้แก่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือ 1) ด้านทักษะการตัดสินใจ 2) ด้านความรู้ความเข้าใจ และ 3) สิ่งแวดล้อมด้านลักษณะที่อยู่อาศัย/ที่ทำงาน ซึ่งสามารถทำนายพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคได้คิดเป็นร้อยละ 25 (Adj. R2 = 0.250, F = 24.505, p-value <0.001) โดยทักษะการตัดสินใจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด รองลงมา คือ ความรู้และความเข้าใจ ส่วนลักษณะที่อยู่อาศัยนั้นมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผลการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์สำหรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรค โดยการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค