Browse
Recent Submissions
Now showing 1 - 5 of 119
- Itemผลกระทบของชั้นปลอดประจุพาหะ n-p บนหัวตรวจจับก๊าซซิงค์ออกไซด์ต่อก๊าซอะซีโตน(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2017) ชมพูนุช ทับเอมสารซิงค์ออกไซด์ (ZnO) เป็นสารที่มีสมบัติที่ดีในการใช้การตรวจจับก๊าซ เช่น ก๊าซเอทานอล ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ หรือ ก๊าซอะซีโตน เป็นต้น ก๊าซอะซีโตน (C3 H6O) เป็นสารเคมีที่มีความไวไฟสูงและเป็นก๊าซที่ระเหยง่าย และมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดการไอหรือเวียนศีรษะ เมื่อสูดดมเป็นเวลานานหัวตรวจจับก๊าซจากสารโครงสร้างนาโนซิงค์ออกไซด์สร้างขึ้นได้ง่าย โดยการใช้ผงซิงก์ออกไซด์ (ZnO) ที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แบบ Current Heating ทำบนแผ่นรองรับอินเตอร์ดิจิตอลและนำไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 350 ๐C เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นได้ศึกษาสมบัติการตอบสนองต่อก๊าซอะซิโตนที่ระดับความเข้มข้น 50-500 ppm ที่อุณหภูมิปฏิบัติการ 250-350 ๐C จากนั้นทำการโดปหัวตรวจจับก๊าซซิงค์ออกไซด์ด้วยนาโนคอปเปอร์ที่ได้จากวิธีการเตรียมแบบ DC Arc-Dis-Charge ปริมาณที่ใช้อยู่ในช่วง 0.50-3.00 μl เพื่อศึกษาผลกระทบของชั้นปลอดประจุพาหะ n-p บนหัวตรวจจับก๊าซซิงค์ออกไซด์ต่อก๊าซอะซิโตนที่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 50-500 ppm ที่อุณหภูมิปฏิบัติการ 250-350 ๐C จากผลการทดลองค่าสภาพไวที่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของชั้น depletion layer ระดับความเข้มข้นของก๊าซอะซิโตน ปริมาณของนาโนคอปเปอร์ ที่โดปบนหัวตรวจจับก๊าซ และอุณหภูมิปฏิบัติการจากนั้น ได้หาความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างค่าสภาพไว และค่าระดับความเข้มข้น เพื่อใช้วิเคราะห์ประสิทธิภาพและคุณภาพของหัวตรวจจับก๊าซที่ถูกสร้างขึ้น
- Itemการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดจากใบมันสำปะหลังโดยใช้ Allium test(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2018) จริญญา คำพิชัย; ปิยนันท์ เกตุชั่ง; วาสนา บ่อคุ้มงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ และสารพันธุกรรมของสารสกัดจากใบมันสำปะหลังด้วยเอทานอล โดยวิธี Allium test ได้ทำการตรวจสอบอัตราการเจริญเติบโตของรากหอม โดยใช้สารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25 กรัมต่อลิตรความเข้มข้น 0.5 กรัมต่อลิตร ความเข้มข้น 1 กรัมต่อลิตร และความเข้มข้น 2 กรัมต่อลิตร นอกจากนี้ผลของความเป็นพิษต่อเซลล์ และสารพันธุกรรมของสารสกัดจากใบมันสำปะหลังได้ทดสอบกับสารสกัดที่ความเข้มข้น 2 กรัมต่อลิตร ความเข้มข้น 1.6 กรัมต่อลิตร ความเข้มข้น 1.2 กรัมต่อลิตร และความเข้มข้น 1 กรัมต่อลิตร ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากใบมันสำปะหลังมีผลต่อการเจริญของรากหอม โดยมีค่าดังนี้ 75.82% 74.72% 63.44% และ 41.00% เมื่อความเข้มข้นของสารสกัดจากใบมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้ค่า %Mitotic index ลดลง (25.76±6.09 21.04±2.20 20.42±2.87 และ 18.60±3.08) แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบมันสำปะหลังด้วยเอทานอลมีผลต่อการลดลงของการแบ่งเซลล์ในรากทุกการทดสอบ สังเกตได้ว่าความเป็นพิษต่อเซลล์เพิ่มขึ้น เมื่อความเข้มข้นของสารสกัดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้พบความผิดปกติของโครโมโซมหลายชนิด เช่น Chain metaphase, sticky Chromosome, C–mitosis, chromosome bridges และlagging chromosome ดังนั้นสารสกัดจากใบมันสำปะหลังด้วยเอทานอลมีผลต่อการเจริญของปลายรากหอม และมีความเป็นพิษต่อเซลล์และสารพันธุกรรมในรากหอม
- Itemการสำรวจความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดวงอาทิตย์ของนักเรียน โรงเรียนพินิตประสาธน์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนักเรียนโรงเรียนประชาบำรุง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ปีการศึกษา 2559(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2016) ยุธิดา จุตตโนการศึกษาอิสระ การสำรวจความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดวงอาทิตย์ ของนักเรียนโรงเรียนพินิตประสาธน์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนักเรียนโรงเรียนประชาบำรุง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ปีการศึกษา 2559 จำนวนทั้งสิ้น 42 คน เครื่องมือของการสำรวจ คือ แบบสำรวจความรู้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดวงอาทิตย์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดวงอาทิตย์ พลังงานที่ได้จากการเกิดปฏิกิริยา ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน แบบอัตนัย จำนวน 5 ข้อ ผลการสำรวจพบว่า โรงเรียนที่ตอบคำถามถูกต้องและสมบูรณ์แบบมากที่สุด คือ นักเรียนโรงเรียนประชาบำรุง คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนที่ตอบผิดหรือมีความเข้าใจผิดมากที่สุด คือ นักเรียนโรงเรียนประชาบำรุง คิดเป็นร้อยละ 48 โดยคำถามที่เข้าใจผิดมากที่สุด คือ ข้อ 4 นักเรียนส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่าสมการการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดวงอาทิตย์เป็นสมการสัมพัทธภาพพิเศษหลักสมมูลมวลพลังงานของไอน์สไตน์ และเป็นธาตุยูเรเนียมโรงเรียนที่ตอบคำถามผิดหรือเข้าใจผิดลองลงมา คือ นักเรียนโรงเรียนพินิตประสาธน์ คิดเป็นร้อยละ 45.56 ข้อที่นักเรียนตอบคำถามผิดมากที่สุด หรือเข้าใจผิดมากที่สุด คือ ข้อที่ 1 นักเรียนส่วนใหญ่ตอบมาว่าปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเกิดจากการยิงอนุภาคเข้าไปยังนิวเคลียสธาตุหนัก ซึ่งเป็นคำตอบที่สลับกันกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน
- Itemการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง โมเมนต์ของแรงสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไกรในวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2017) ปิยนุช ไกรกิจราษฎร์การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและออกแบบสื่อการเรียนรู้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังของนักเรียนหลังจากได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ 3) เพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียนหลังการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 1 โรงเรียนไกรในวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก เรื่อง คานและโมเมนต์ จำนวน 15 ข้อ 2) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ 3) แผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง โมเมนต์ของแรง 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test แบบ dependent และความก้าวหน้าทางการเรียน ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการสอบหลังเรียน (X = 12.5) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบก่อนเรียน (X = 8.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการประเมินความก้าวหน้าทางการเรียนโดยใช้วิธี Average normalized gain พบว่า 2.1) ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายชั้นเรียนมีค่าเท่ากับ ( = 0.54) ซึ่งอยู่ในความก้าวหน้าระดับปานกลาง 2.2) ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายบุคคล แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ อยู่ในระดับความก้าวหน้าสูง 5 คน ระดับความก้าวหน้าปานกลาง 11 คน ระดับความก้าวหน้าต่ำ อีก 4 คน 3) ผลของการประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เรื่อง คานและโมเมนต์ จากทั้งหมด 20 คน พบว่า อยู่ในระดับความพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยรวม เท่ากับ 3.98 อยู่ในเกณฑ์ระดับดี
- Itemผลของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา (Glomus sp., Acaulospora sp.) ที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ปริมาณสารสำคัญของผักเชียงดา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผักเชียงดาจากใบอ่อน(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2020) นันทิญาพรรณ ทิพย์จักร์; พลอยชมพู ดงปาลีผักเชียงดา (Gymnema inodorum (Lour.) Decne.) เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือของไทยที่มีการรายงานถึงสรรพคุณของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีสมบัติการต้านอนุมูลอิสระและการรักษาโรคเบาหวาน การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของผักเชียงดา ศึกษาผลของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา ที่มีผลต่อปริมาณสารสำคัญของผักเชียงดา และศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากใบอ่อนของผักเชียงดา ใช้การทดลองแบบบล็อกสุ่มสมบูรณ์ (RCBD) โดยแบ่งการทดลอง เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง วัดความสูง นับจำนวนใบ วัดความกว้าง-ยาวใบ ทุก ๆ 1 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 จากนั้นวัดน้ำหนักสด-แห้งของใบผักเชียงดา แล้วนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิก และนำรากไปตรวจดูการเข้าไปในรากของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา นอกจากนี้ยังได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อใบผักเชียงดาในสูตรอาหาร MS+1NAA+1BA และ MS+2NAA+1BA จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์หาธาตุอาหารในดินหลังการทดลอง ผลการศึกษาของผักเชียงดากลุ่มทดลองที่ใส่เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พบว่า มีผลต่อความสูงและความยาวใบ แต่ไม่มีผลกับจำนวนใบ ความกว้างใบ และน้ำหนักสด-แห้ง สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิกในผักเชียงดาในกลุ่มควบคุม (34.35±2.10 mg g/g.ext) และกลุ่มทดลอง (38.68±2.29 mg g/g.ext) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการตรวจเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาที่เข้าไปในราก พบการสร้างอาร์บัสคูลในชั้นคอร์เท็กซ์ของราก และพบเส้นใยของเชื้อราเจริญผ่านผนังเซลล์ของราก ผลการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสูตรอาหาร MS+1NAA+1BA จำนวนการเกิดแคลลัสเกิดได้มากกว่าสูตรอาหาร MS+2NAA+1BA ผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน พบว่า กลุ่มทดลองมีปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูงกว่ากลุ่มควบคุม