ระดับปริญญาเอก(Doctoral Degree)
Permanent URI for this collection
Browse
Recent Submissions
- Itemการพัฒนาสมาร์ตมิเตอร์ตรวจวัดการใช้พลังงานไฟฟ้าในสวนพลังงานของ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) ภาคิณ มณีโชติงานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ออกแบบและสร้างสมาร์ตโฟนมิเตอร์ มาบริหารจัดการพลังงานในสวนพลังงานฯ โดยมีข้อกำหนดขอบเขตความสามารถรวมของระบบสมาร์ตโฟนมิเตอร์ ดังต่อไปนี้ สามารถวัดค่าพลังงานไฟฟ้าของแต่ละอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ สามารถเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านสมาร์ตโฟนมิเตอร์ได้ และสามารถแจ้งเตือนการใช้ไฟฟ้าเกินกำหนดได้ จากข้อกำหนด ผู้วิจัยเลือกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลักประกอบรวมกัน ได้แก่ ไมโครคอนโทรลเลอร์ NodeMCU (ESP-8266) เซ็นเซอร์วัดกำลังไฟฟ้า Pzem-004T รีเลย์ (Relay) สมาร์ตโฟน และแอปพลิเคชัน Blynk เป็นตัวเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า โดยนำอุปกรณ์ที่กล่าวมาสร้างสมาร์ตโฟนมิเตอร์ตาม Single Line Circuit สมาร์ตโฟนมิเตอร์แล้วส่งทดสอบ การวัดค่าไฟฟ้าความแม่นยำ ณ SGTech มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลการวัดเปรียบเทียบกับเครื่องทดสอบ YOGOKAWA โหลด R, RC และ RL ค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยของแรงดันไฟฟ้า คือ 0.32%, 0.42% และ 0.45% ตามลำดับ และค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยกระแสไฟฟ้า คือ 0.17%, 0.38% และ 0.34% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลศึกษารูปแบบการบริหารจัดการพลังงานในสวนพลังงาน โดยใช้สมาร์ตโฟนมิเตอร์ พบว่า สมาร์ตโฟนมิเตอร์สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ โดยเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 15.23 ในการใช้พลังงานไฟฟ้าในสวนพลังงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ พบว่า การใช้สมาร์ตโฟนมิเตอร์ในการควบคุมอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศสามารถลดการใช้พลังงานได้ โดยลดลงถึงร้อยละ 14.63 สำหรับห้องออฟฟิศสวนพลังงานมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และลดลงถึงร้อยละ 15.75 สำหรับอาคารพักอาศัยทั่วไป นอกจากนี้ การศึกษาด้านการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ พบว่า การตั้งอุณหภูมิที่ 28-29 องศาเซลเซียสใช้พลังงานน้อยที่สุด คือ 13.74 -14.08kWh
- Itemการสร้างอัลกอริทึมควบคุมอัตราการไหลของอากาศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความชื้นและอุณหภูมิของโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) ณัฐวิทย์ ทองมงคลงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างอัลกอริทึมควบคุมอัตราการไหลของอากาศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความชื้นและอุณหภูมิของโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และเสนอแนะแนวทางการจัดการพลังงานเพื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีการออกแบบชุดควบคุมการทำงานของพัดลม โดยอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมภายในโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบบอร์ด Raspberry pi 3B+ ทำงานร่วมกับ Smart Phone Display และทำการเขียนคำสั่งระบบควบคุมสั่งงานอุปกรณ์ภายใน ติดตั้งอุปกรณ์ภายในโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และทดสอบการทำงานของชุดควบคุม โดยใช้วัตถุดิบในการทดลอง 2 ชนิด คือ กล้วยน้ำว้าและผักตบชวา โดยกำหนดอัตราการไหลของอากาศ 3 ค่า คือ 0.35, 0.70 และ 1.05 m3/s จากผลการทดลองพบว่า ที่อัตราการไหลของอากาศที่ 0.35 m3/s ส่งผลให้ความชื้นของผลิตภัณฑ์ลดลงได้ดีที่สุด ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการไหลแบบไม่ต่อเนื่อง (intermittent flow) โดยการปรับอัตราการไหลของทั้ง 3 ค่า โดยขึ้นอยู่กับอัลกอริทึมโดยมีเงื่อนไข คือ ที่อุณหภูมิ 500C และความชื้นสัมพัทธ์ 35% โดยฟังก์ชั่นการทำงานของอัตราการไหลที่ 0.35 , 0.70 และ 1.05 m3/s ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1,7 และ10 0C จากผลการทดลอง ทำให้ได้สมการของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการอบแห้งกับความชื้นสัมพัทธ์อุณหภูมิ และอัตราการไหลของอากาศ การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ของโรงอบแห้งแบบอัตโนมัตินี้มีจุดคุ้มทุน คือ 1 ปี 5 เดือน ซึ่งถือว่ามีระยะเวลาที่สั้น และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 24,241.90 บาท ทั้งนี้สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 0.67859kgCO2 e ต่อเดือนเมื่อเทียบกับแบบระบบเดิม
- Itemการพัฒนาเครือข่ายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจังหวัดลำปาง(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2024) อำนวย วรญาณกุลการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาเครือข่ายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจังหวัดลำปาง มีจุดมุ่งหมายการวิจัยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาบริบทและศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีของจังหวัดลำปาง 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีต่อการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาในพื้นที่อุทยานธรณีโลกประเทศไทย 3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดลำปาง และ 4) เพื่อพัฒนาแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาลำปาง เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดลำปาง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดลำปาง อุทยานธรณีโลกสตูล โคราชจีโอพาร์ค และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีต่อการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาในพื้นที่อุทยานธรณีโลกประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินศักยภาพโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา แบบสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แบบสอบถามพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดประชุมกลุ่มย่อยของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์สถิติเชิงอนุมาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) การศึกษาบริบทและศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดลำปาง พบว่า จังหวัดลำปางมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจำนวนมาก แต่อุทยานธรณีลำปางยังไม่มีการคัดเลือกและจัดลำดับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และยังขาดความพร้อมในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ทำให้ภาคเอกชน ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ขาดการรับรู้รับทราบเกี่ยวกับอุทยานธรณีลำปาง ส่งผลให้ยังไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาในจังหวัดลำปาง 2) การศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีต่อการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาในพื้นที่อุทยานธรณีโลกประเทศไทย ในภาพรวมพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีระดับความต้องการมากที่สุดในด้านกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว รองลงมา คือ ด้านสิ่งดึงดูดใจในแหล่งท่องเที่ยว ความสะดวกในการเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว ความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว และการบริการที่พักในแหล่งท่องเที่ยว ตามลำดับ 3) การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของอุทยานธรณีลำปางที่เหมาะสม เป็นรูปแบบผสมระหว่างเครือข่ายรูปแบบดาว (Star network) และเครือข่ายรูปแบบสายการบิน (Hub and spoke network) โดยใช้ตัวแบบการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกัน (Collaborative governance model) 4) แผนกลยุทธ์การบริหารจัดการเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาลำปาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์การบริหารจัดการพื้นที่ กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ กลยุทธ์การจัดการองค์กร และกลยุทธ์องค์ประกอบการท่องเที่ยวและความปลอดภัย
- Itemกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) เอกภพ ช่างแก้วจังหวัดเชียงรายมีการสร้างแบรนด์การท่องเที่ยว “Hug Chiang Rai” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชียงรายสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง แต่พบว่า ยังไม่มีการนำแบรนด์ไปใช้เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวตามจุดมุ่งหมายหลักที่ตั้งไว้ ซึ่งความท้าทาย คือ การสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงชุมชน ให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับและมีส่วนร่วมในการสื่อสารการตลาดแบรนด์เมืองท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน งานวิจัยครั้งนี้จึง มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยได้ประยุกต์การวิจัยเชิงคุณภาพและเก็บข้อมูลจากการวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ ได้ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ดังนี้ วัตถุประสงค์ที่ 1 จังหวัดเชียงรายมีการจัดทำแบรนด์ภายใต้แนวคิดแบบ Inside Out ได้อัตลักษณ์ของแบรนด์ คือ STYLE-C ผ่านข้อความ Hug Chiang Rai โดยเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการนำแบรนด์ DNA ไปพัฒนาการท่องเที่ยว ไปยังกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ 2 กระบวนการสร้างและสื่อสารการตลาดแบรนด์เมืองกุนมะ พบว่า จังหวัดกุนมะ มีการออกแบบแบรนด์เพื่อสื่อให้คนภายนอกรับรู้ถึงจุดเด่น และทรัพยากรของเมืองกุนมะที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น การออกแบบและพัฒนาแบรนด์เป็นไปตามความนิยมของคนประเทศญี่ปุ่น วัตถุประสงค์ที่ 3 การเสนอกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบรนด์เมืองเชียงรายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว จากการศึกษาพบว่า กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบรนด์เมืองเชียงราย (4Cs) เพื่อส่งเสริมการนำแบรนด์ไปใช้ยกระดับการท่องเที่ยวเชียงราย ประกอบด้วย Constructure คือ การวางโครงสร้างแบรนด์ Communication คือ การสื่อสารอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง Compliment คือ ระบบการส่งเสริมการนำแบรนด์ไปใช้ และ Contributors คือ องค์กรการสื่อสาร แบรนด์
- Itemการพัฒนารูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2020) รัตน์เศรษฐ์ จามจุรีการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการไฟฟ้าแบบผสมผสานของระบบสมาร์ตกริดของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงานโดยเฉพาะ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงพลังงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และผู้บริหารภาคเอกชน จากการตอบแบบสอบถามเชิงลึก และการตรวจสอบ ประเมิน รับรองรูปแบบการบริหารจัดการนวัตกรรมเทคโนโลยีอนาคตของระบบสมาร์ตกริดแบบผสมผสาน จำนวน 20 คน ผลการวิจัยพบว่า (1) รูปแบบการจัดการไฟฟ้าแบบผสมผสานของระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีองค์ประกอบดังนี้ 1) การบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 2) การจัดการเทคโนโลยีสมาร์ตกริด 3) ด้านการจัดการพลังงานแบบผสมผสาน 4) รูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน (2) รูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จากคะแนนเต็ม 5 ของแต่ละองค์ประกอบดังนี้ คือ องค์ประกอบด้านการพัฒนาระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย 4.27 องค์ประกอบด้านการรองรับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น 4.40 องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในภาพรวม 4.17 องค์ประกอบด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังตัว 4.28 องค์ประกอบด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ 4.24 องค์ประกอบด้านสารสนเทศและการสื่อสาร 4.37 องค์ประกอบด้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4.35 องค์ประกอบด้านโรงไฟฟ้าโซล่าเซล 4.46 องค์ประกอบด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม 4.23 องค์ประกอบของรูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคต 4.29 องค์ประกอบของรูปแบบการจัดการพลังงาน 4.24 องค์ประกอบด้านการจัดการเทคโนโลยีสมาร์ตกริด 4.30 ในการจัดการแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มศักยภาพในระบบการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับให้ทันสมัยขึ้นเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อรองรับระบบสมาร์ตกริดเทคโนโลยีในอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และเป็นแนวทางในการบริหารพลังงานของภาครัฐ สร้างความเป็นธรรมและเกิดความสมดุลอันเป็นแนวทางการแก้ไขที่ตรงจุดจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างยั่งยืนต่อไป