Browsing by Author "วรวุฒิ อ้ายดวง"
Now showing 1 - 1 of 1
Results Per Page
Sort Options
- Itemการใช้รา Mucor ellipsoideus, Rhizopus oryzae และ Trichoderma harzianum ในการย่อยสลายปุ๋ยหมักผักตบชวา เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและควบคุมโรคจากรา Alternaria brassicicola และ Pythium aphanidermatum ในคะน้า(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2018) วรวุฒิ อ้ายดวงงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของราย่อยสลาย Mucor ellipsoideus (UPPY06), Rhizopus oryzae (UPPY29) และ Trichoderma harzianum (UPPY19) ในการย่อยสลายผักตบชวา สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการควบคุมโรคจากรา Alternaria brassicicola และ Pythium aphanidermatum ของคะน้า ในการทดลองที่ 1 การศึกษาการย่อยสลายผักตบชวาด้วยราย่อยสลายในระดับโรงงาน พบว่า การหมักผักตบชวาด้วยรา R. oryzae และ T. harzianum นาน 60 วัน ได้ผักตบชวาหมักที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และปริมาณธาตุอาหารหลักดีที่สุด ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร (ปี 2551) เมื่อแยกเชื้อกลับเพื่อตรวจสอบการอยู่รอดของราในผักตบชวาหมัก พบว่า ในทุก ๆ กรรมวิธี พบราย่อยสลายแต่ละชนิดที่ใส่ลงไปในผักตบชวาหมัก และมีการพบรา Rhizopus sp. ในทุก ๆ กรรมวิธี ส่วนการทดลองที่ 2 การทดสอบผลของปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวาที่หมักด้วยราย่อยสลายต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของคะน้า ในระดับโรงเรือน พบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวาที่หมักด้วยราย่อยสลาย ในอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้คะน้ามีการเจริญเติบโต และคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยเคมื โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวาที่หมักด้วยราย่อยสลายมีผลผลิตคะน้าต่อต้นเฉลี่ยมากที่สุด เท่ากับ 41.76 กรัม รองลงมา คือ การใช้ปุ๋ยเคมี มีผลผลิตคะน้าต่อต้น เฉลี่ย 37.36 กรัม ซึ่งมากกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของโรงงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่การทดลองที่ 3 การทดสอบผลของราย่อยสลายต่อการควบคุมการเจริญของราสาเหตุโรคในคะน้าในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่า รา M. ellipsoideus, R. oryzae และ T. harzianum มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญของรา P. aphanidermatum สาเหตุโรคเน่าคอดิน เท่ากับ 61.06, 62.61 และ 80.61 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญของรา A. brassicicola สาเหตุโรคใบจุดของคะน้า เท่ากับ 53.39, 86.83 และ 82.39 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนการควบคุมโรคของคะน้าในระดับโรงเรือน พบว่า ปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวาที่หมักด้วยราย่อยสลาย สามารถควบคุมการเกิดโรคเน่าคอดิน และโรคใบจุดของคะน้าได้ดีที่สุดโดยมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเน่าคอดินน้อยที่สุด เท่ากับ 4 เปอร์เซ็นต์ และมีระดับความรุนแรงของโรคใบจุดเท่ากับ 1.74 ของระดับคะแนนการเกิดโรคบนพื้นที่ใบ ตามลำดับ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมี พบว่า ต้นกล้าคะน้ามีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเน่าคอดินสูงถึง 86 เปอร์เซ็นต์ และมีระดับความรุนแรงของโรคใบจุดสูงถึง 3.20 ของระดับคะแนนการเกิดโรคบนพื้นที่ใบ ซึ่งมีการเกิดโรคมากกว่าชุดควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น การนำปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวาที่หมักด้วยราย่อยสลายมาใช้ในการปลูกคะน้า สามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และลดการเกิดโรคในคะน้าได้ดีที่สุด