Browsing by Author "อัครเดช สมคำ"
Now showing 1 - 1 of 1
Results Per Page
Sort Options
- Itemการจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจศาล: กรณีหลบหนีภายหลังการปล่อยชั่วคราว(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) อัครเดช สมคำวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อค้นพบปัญหาและแนวทางออกทางกฎหมายที่เหมาะสมในเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหลบหนี ของเจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยศึกษาแนวคิด ทฤษฎี กฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ให้ได้แนวทางออกที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จากผลการวิจัย พบว่า หน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจศาลในการจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหลบหนี ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 5 (4) แห่งพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มีประเด็นปัญหาดังนี้ ประการแรก มาตรา 5 (4) ไม่สอดคล้องกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ ที่สมควรกำหนดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจับกุมผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราว ประการที่สอง มาตรา 5 (4) ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจศาลจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหลบหนีโดยตรง เจ้าพนักงานตำรวจศาลจึงไม่อาจเป็นเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับได้ ประการที่สาม การจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจศาลกรณีมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที เป็นข้อยกเว้นของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจศาลที่มีผลต่อประสิทธิภาพการจับกุมผู้หลบหนีเหล่านั้น ประการที่สี่ มาตรา 5 (4) คล้ายกับบทบัญญัติมาตรา 117 วรรค 3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจเข้าข่ายกฎหมายที่หมดความจำเป็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้วิจัยจึงขอเสนอแนวทางออก คือ แก้ไขบทบัญญัติ มาตรา 5 (4) จากเดิมแก้ไขเป็น “มาตรา 5 เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (4) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี และมีคำสั่งหรือหมายของศาลให้ทำการจับกุมให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว” เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลในการบัญญัติและประกาศใช้พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจศาล เพื่อนำผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง