Browsing by Author "ปพิชญา ยอดมณี"
Now showing 1 - 1 of 1
Results Per Page
Sort Options
- Itemวิถีตลาดและแนวทางการพัฒนาธุรกิจโคเนื้อคุณภาพสูงอย่างยั่งยืนในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ของประเทศไทย กรณีศึกษา สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2020) ปพิชญา ยอดมณีการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ประเด็นแรก เพื่อศึกษาสถานการณ์การผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ของประเทศไทย ประเด็นที่สอง ศึกษาวิถีตลาดโคเนื้อคุณภาพสูงในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ของประเทศไทย โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งกรณีศึกษาในการศึกษาครั้งนี้ คือ สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด ประกอบด้วยสมาชิกที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ของประเทศไทย (พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน) มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 437 คน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 1) เป็นผู้บริหารของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด ใช้เทคนิคสัมภาษณ์โดยวิธีเลือกแบบเจาะจง จำนวน 2 คน 2) ผู้ประกอบการขายส่งเนื้อโคคุณภาพสูง จำนวน 1 คน 3) ซูปเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 1 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง โดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ ประเด็นแรกพบว่า จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงตั้งแต่ปี 2558 – 2561 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนเกษตรกรที่ผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ตามลำดับในปี 2561 มีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 437 คน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงโคขุนมากขึ้น และในขณะเดียวกันจำนวนโคเนื้อคุณภาพสูงในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ของประเทศไทยมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นโดย ในปี 2561 มีจำนวนโคเนื้อคุณภาพสูงทั้งหมด 246 ตัว ในส่วนธุรกิจแปรรูปผลิตผลการเกษตรและการผลิตสินค้าของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด นั้น มีการเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในปี 2561 มีการลงทุนในธุรกิจอยู่ 22,856,641.98 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 121.04 ในส่วนของรายได้นั้น พบว่า มีรายได้อยู่ 3 ส่วน คือ ขายยกซาก ซึ่งเป็นวิธีขายที่สร้างรายได้ให้กับสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด มากที่สุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการขายส่งมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการซื้อและจำหน่ายโคเนื้อร่วมกัน ขายเนื้อตัดแต่ง เช่น เนื้อแดงตัดแต่ง และขายผลผลิตพลอยได้ เช่น กระดูก เครื่องใน หนัง และไขมัน เป็นต้น ในปี 2561 สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด มีรายได้รวมเท่ากับ 26,202,739.83 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115.12 โดยผลผลิตที่สร้างรายได้ให้กับสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด มากที่สุดมาจากการขายยกซาก ร้อยละ 90.75 จากการขายผลผลิตพลอยได้ ร้อยละ 8.15 และจากการขาย เนื้อตัดแต่ง ร้อยละ 1.10 ตามลำดับ ประเด็นที่สอง พบว่า เกษตรกรจำหน่ายโคขุนคุณภาพมีชีวิตให้แก่สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด ต่อมาสหกรณ์ฯ ดำเนินการแปรรูปโคเนื้อและจำหน่ายโคเนื้อคุณภาพสูงได้ 3 ช่องทาง คือ ผู้ประกอบการขายส่งเนื้อโคคุณภาพ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.86 ของปริมาณโคเนื้อทั้งหมด ซุปเปอร์มาร์เก็ต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.51 ของปริมาณโคเนื้อทั้งหมด และสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 1.63 ของปริมาณโคเนื้อทั้งหมด