Browsing by Author "คุณากร นาต๊ะ"
Now showing 1 - 1 of 1
Results Per Page
Sort Options
- Itemประสิทธิผลของโปรแกรมชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2018) คุณากร นาต๊ะการศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งใช้วิธีการศึกษาแบบกึ่งทดลอง (Quasi experimental research) โดยทำการศึกษาในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ และวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (Randomized pretest-posttest control group design) โดยวัดผลจากค่าการเปลี่ยนแปลงอัตราการกรองของไตและระดับความรุนแรงของโรค ประชากรที่ใช้ศึกษาเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานและมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะที่ 1-5 ที่อาศัยอยู่ในตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากการคำนวณ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป G-power 3.1.9.2 (Effect Size = 0.8 effect size for α = 0.05 and power Analysis = 0.90) ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง 68 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 1 หมู่บ้าน และกลุ่มเปรียบเทียบ 1 หมู่บ้าน กลุ่มละ 34 คน คัดเลือกตามเกณฑ์ที่ผู้วิจัยกำหนด โดยความสมัครใจ ผู้วิจัยได้สร้างโปรแกรมชะลอไตเสื่อมขึ้น โดยการประยุกต์ใช้โมเดลปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ในการแบ่งสีตามระดับความรุนแรงของโรคไตเพื่อสร้างการรับรู้โรค พัฒนาทักษะส่วนบุคคลโดยส่งเสริมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับโรค และลดเครื่องปรุงในอาหาร และกระตุ้นพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยเทคนิคการเตือนตนเอง จากการศึกษาหลังได้รับโปรแกรมชะลอไตเสื่อม พบว่า ในกลุ่มทดลองร้อยละ 73.5 มีระดับความรุนแรงของโรคไตคงที่ และมีผู้ป่วยร้อยละ 17.6 มีระดับความรุนแรงของโรคไตลดลง ในขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบมีระดับความรุนแรงของไตเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 5.9 โดยไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ของโรคไตที่ลดลงเลย นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรม มีค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงอัตราการกรองของไตน้อยกว่าช่วงก่อนการได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P < 0.05 โดยกลุ่มที่ให้ความร่วมมือมากกว่าร้อยละ 70 (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 วันต่อสัปดาห์) มีค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงอัตราการกรองของไตเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P < 0.05 ซึ่งแสดงว่ากลุ่มตัวอย่างมีอัตราการกรองของไตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าโปรแกรมชะลอไตเสื่อม สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของไตจากภาวะไตวายเรื้อรังให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคไตในระยะที่ 1-3 (กลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีส้ม) และสามารถปฏิบัติตามโปรแกรมได้มากกว่าร้อยละ 70 (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 วันต่อสัปดาห์)