Browsing by Author "คงอมร เหมรัตน์รักษ์"
Now showing 1 - 2 of 2
Results Per Page
Sort Options
- Itemความเชื่อและพิธีกรรมเลี้ยงผี: กรณีศึกษา ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2016) คงอมร เหมรัตน์รักษ์การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเชื่อและองค์ประกอบขั้นตอนของพิธีกรรมเลี้ยงผี ที่ตำบลสะเอียบ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ตลอดจนวิเคราะห์อิทธิพลของพิธีกรรมเลี้ยงผีดังกล่าวที่มีต่อชุมชนสะเอียบ โดยได้ศึกษาด้วยวิธีการทางคติชนวิทยา กล่าวคือ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการลงพื้นที่เพื่อสังเกตพิธีกรรม ตลอดจนสัมภาษณ์วิทยากรที่ตรงกับคุณสมบัติที่ผู้วิจัยได้ตั้งไว้ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ แล้วนำเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนสะเอียบนับถือพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน โดยชาวบ้านยังมีความเชื่อในการนับถือผี และสะท้อนความเชื่อออกมาในรูปแบบพิธีกรรมเรียกว่า พิธีกรรมเลี้ยงผี ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เพื่อแบ่งโครงสร้างและหน้าที่ของผีในตำบลสะเอียบเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผีอารักษ์พื้นที่สำคัญในหมู่บ้านกับกลุ่มผีอารักษ์พื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกิน นอกจากนี้ยังพบว่า ผีอารักษ์นอกจากจะทำหน้าที่เป็นดูแลรักษาบ้านเมือง ป่า และพื้นที่ทำกินแล้ว ผีอารักษ์ยังมีหน้าที่เป็นผีบรรพบุรุษของชาวบ้านมีหน้าที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆ ผ่านการบนผี โดยชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีขึ้นในทุก ๆ ปี ผู้วิจัยพบ ความเชื่อเกี่ยวกับผี จำนวน 6 ความเชื่อ และพิธีกรรมเลี้ยงผี จำนวน 10 พิธีกรรม แบ่งเป็นพิธีกรรมตามกาลเวลา 8 พิธีกรรม ชาวบ้านจะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีในช่วงก่อนฤดูเพาะปลูกและหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เรียกว่า ปางเก้าปางสาม และพิธีกรรมตามโอกาสพิเศษ 2 พิธีกรรม คือ พิธีกรรมหงายเมือง และพิธีกรรมบนผี แก้บนผี ถึงแม้ว่าพิธีกรรมเลี้ยงผีที่ตำบลสะเอียบจะมีลำดับขั้น และองค์ประกอบตอนที่แตกต่างกัน แต่ผู้วิจัยยังพบจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ พิธีกรรมนั้นล้วนเกิดขึ้นจากความเชื่อ จากการวิเคราะห์ตามทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ พบว่า พิธีกรรมเลี้ยงผีมีหน้าที่สำคัญต่อชาวบ้านชุมชนสะเอียบ ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
- Itemพิธีกรรมและแนวทางการสร้างสรรค์พิธีกรรมในชุมชนเขตพื้นที่เมืองเก่า อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2023) คงอมร เหมรัตน์รักษ์การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาองค์ประกอบ ขั้นตอนของพิธีกรรม รวมถึงสภาพและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรม ตลอดจนแนวทางการสร้างสรรค์พิธีกรรม ในชุมชนเขตพื้นที่เมืองเก่า อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จำนวน 21 พิธีกรรม โดยผู้วิจัยใช้วิธีทางคติชนวิทยา เข้าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และสัมภาษณ์วิทยากรเพิ่มเติม ตลอดจนการจัดสนทนากลุ่ม แล้วนำเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า พิธีกรรมของชาวแพร่มาจากความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างพุทธ พราหมณ์ และผีเข้าด้วยกัน มีองค์ประกอบเป็นโครงสร้างของพิธีกรรม คือ 1) จุดประสงค์ของพิธี 2) วัน เวลา และสถานที่ 3) อุปกรณ์ 4) ผู้เข้าร่วมในพิธี และ 5) ขั้นตอนของพิธีกรรม ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้มีหน้าที่ทำให้พิธีกรรมนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และพบสภาพของ องค์ประกอบของพิธีกรรมอยู่ 2 สภาพ คือ 1) สภาพคงเดิม เพราะชาวบ้านต้องการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด และ 2) สภาพเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมอย่างเป็นพลวัต โดยมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจาก 1) นโยบายจากภาครัฐ หรือนโยบายของผู้จัด 2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 3) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ 4) สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตนี้ทำให้ผู้วิจัยพบแนวทางสร้างสรรค์ 5 แนวทางด้วยกัน คือ 1) การตัดและการสลับลำดับขั้นตอนในพิธีกรรม 2) การเปลี่ยนรายละเอียดในพิธีกรรม 3) การขยายความในพิธีกรรม 4) การผนวกพิธีกรรม 5) การผลิตซ้ำพิธีกรรม จากผลการวิจัยพบว่า พิธีกรรมเป็นโครงสร้างของประเพณีวัฒนธรรมอันมีหน้าที่ทำให้สังคมชาวแพร่นั้นอยู่อย่างผาสุก นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมในเมืองเก่าแพร่ที่เป็นไปตามปัจจัยของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต ตลอดจนได้พบแนวทางที่น่าสนใจสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในรูปแบบการสร้างสรรค์พิธีกรรมของเมืองเก่าแพร่ต่อไป