Browsing by Author "ณัฏฐณิชชา คำจิตร"
Now showing 1 - 1 of 1
Results Per Page
Sort Options
- Itemส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพของนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2018) ณัฏฐณิชชา คำจิตรงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ปัจจัยส่วนบุคคลและส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1-4 ทุกคณะ ปีการศึกษา 2560 ที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพจำนวน 405 ราย กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบสะดวก (convenience sampling) เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามซึ่งผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและความเที่ยงตรง ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถามให้แก่กลุ่มตัวอย่างในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ข้อมูลที่ได้รับถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป โดยบรรยายข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ พฤติกรรมการซื้อ และส่วนประสมการตลาดด้วยค่าร้อยละและค่าเฉลี่ย ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนประสมการตลาดและการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพด้วยการทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ 0.05 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 71.1) อายุ 20 ปี (ร้อยละ 33.1) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2,501-5,000 บาท (ร้อยละ 43.0) และมาจากภาคเหนือ (ร้อยละ 61.0) ส่วนใหญ่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ประเภทเพื่อบำรุงสุขภาพร่างกาย (ร้อยละ 77.0) โดยมีเหตุผลหลัก คือ เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม (ร้อยละ 82.0) ตนเองเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหลักในการตัดสินใจซื้อ ความถี่ในการซื้อ 1-2 ครั้งต่อปี (ร้อยละ 59.0) ซื้อในราคาไม่เกิน 500 บาท ที่ร้านขายยาเป็นหลัก (ร้อยละ 64.0) ซื้อยี่ห้อ/ตราเดียว (ร้อยละ 46.2) ซื้อเมื่อใกล้จะหมด (ร้อยละ 51.1) ส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อระดับมากที่สุด ได้แก่ ด้านกระบวนการ ด้านราคา ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านลักษณะทางกายภาพ และด้านบุคลากร ส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อระดับมาก ได้แก่ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาด ผู้ตอบแบบสอบถามตัดสินใจว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพต่อ ไม่แน่ใจ ซื้อแน่นอน และไม่ซื้อแน่นอนร้อยละ 49.4, 45.9 และ 4.7 ตามลำดับ ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศหญิงเป็นปัจจัยส่วนบุคคลเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อต่อแน่นอน (p < 0.001) เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของส่วนประสมการตลาดระหว่างกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อแน่นอน ไม่แน่ใจ และไม่ซื้อแน่นอน พบว่า ส่วนประสมการตลาดที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อแน่นอน ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ (p = 0.008) ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย (p=0.005) ด้านบุคลากร (p<0.001) ด้านลักษณะทางกายภาพ (p = 0.022) และด้านกระบวนการ (p = 0.031)